top of page
  • Writer's picturePR NEWS FOCUS

เมื่อคุณแม่ต้องรับมือกับ “วิถีชีวิต Next Normal”



ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงประสบการณ์การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและวัยรุ่นในเขตเมือง เกี่ยวกับปัญหาของเด็กที่กลับไปเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า


  1. เด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้น อาการมีเล็กน้อยเหมือนเป็นหวัดทั่วไปจนถึงรุนแรงมาก จากอาการอักเสบในหลายระบบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด 19 ประมาณ 2 - 6 สัปดาห์ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรืออาจเกิดภาวะ LONG COVID ที่อาจมีผลต่อการเรียนรู้หรือโรคทางกายอื่นซึ่งต้องติดตามข้อมูลจากงานวิจัยต่อไป

  2. ปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อน ผู้ปกครอง ครู และการจัดการอารมณ์ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เด็กและวันรุ่นใช้เวลาเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ขาดการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการอยู่ใกล้กันจนไม่มีพื้นที่ส่วนตัวและการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพของพ่อแม่กับลูก จนนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

  3. การขาดความรับผิดชอบและระเบียบวินัย เด็กหลายคนเคยชินกับการไม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียน เรียนออนไลน์ที่บ้านไม่ต้องเข้มงวดกับการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น แต่งตัว จัดกระเป๋ามาเรียน จะเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้ ตื่นมาก็นั่งเรียนได้เลย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเรียนออนไลน์ที่บ้านจนมาเรียนที่โรงเรียน เด็กไม่ส่งการบ้าน ตามงานไม่ทัน ต่อต้านการปฏิบัติตามกฎของโรงเรียน ให้ความสนใจกับสิทธิตัวเองมากแต่ละเลยเรื่องหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ซึ่งเรื่องความรับผิดชอบและระเบียบวินัย สำคัญต่อการใช้ชีวิตของตัวเด็กเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นอย่างมาก

  4. ปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอยหรือพัฒนาการด้านต่างๆ อาจได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ จากการสำรวจของ UNICEF ร่วมกับ UNESCO และกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาเด็กประสบปัญหาการเรียนรู้เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งลักษณะการเรียนออนไลน์ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กในด้านการควบคุมตนเอง สมาธิ การปฏิสัมพันธ์กับครูและทักษะทางสังคม ความไม่พร้อมของอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ การเรียนรู้ช่วงออนไลน์จึงไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เมื่อมาเรียนที่โรงเรียนเด็กมีพื้นฐานที่ไม่ดีทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ต่อเนื่องได้



***นอกจากนี้ยังพบปัญหาทางกายและจิตใจ เช่น สายตาสั้นเพราะต้องใช้หน้าจออย่างยาวนาน น้ำหนักเกินหรืออ้วน เพราะมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขาดกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย หรือความผิดปกติของการเผาผลาญสารอาหาร เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูง อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง ภาวะซึมเศร้าอาจเนื่องมาจากการเรียนออนไลน์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย มีภาวะเครียด โดยเด็กที่มีภาวะนี้อาจมีปัญหาการจัดการอารมณ์และทักษะทางสังคมอยู่ก่อนแล้ว


ผศ.เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี ได้มีคำแนะนำให้กับคุณแม่ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ดังนี้

  1. การรับวัคซีน 3 เข็ม และให้ความร่วมมือกับโรงเรียนในการป้องกันโควิด 19 ตามมาตรการของโรงเรียน

  2. ควรสังเกตอาการของเด็กก่อนไปโรงเรียน สอดส่องพฤติกรรมการป้องกันตนเองของเด็กที่บ้าน

  3. การใช้เวลาหรือพูดคุยถึงข่าวและสถานการณ์ร่วมกับเด็ก โดยการใช้คำถามในลักษณะปลายเปิดให้เด็กได้แสดงความเห็นโดยหลีกเลี่ยงการตำหนิแม้จะไม่เห็นด้วย แต่ให้หาจังหวะอธิบายความเข้าใจผิดนั้น โดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกถูกตำหนิ 4.เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดูแลสุขภาพหรือการป้องกันโรค เช่น หาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนร่วมกัน ถกถึงข้อดีข้อเสีย และให้เด็กเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งการฝึกเด็กให้ป้องกันโควิด 19 หรือดูแลสุขภาพของตนเองด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีความรอบรู้ในการป้องกันโรคโควิด 19 มากขึ้น การดูแลเด็กต้องดูแลทั้งสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ ทักษะทางสังคมหรือทักษะชีวิตเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองและพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยกันสร้างให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน นอกจากทางกายแล้ว ยังต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้เด็กพร้อมดูแลตนเอง มีความเข้มแข็งทางจิตใจโดยการสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคม ให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี



ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าในประเทศเราจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กในวันนี้จะต้องไปดูแลและอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ การสร้างความเข้าใจเรื่องคนต่างวัยหรือผู้สูงอายุ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างวัยเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย เป็นประเด็นสำคัญที่ทางคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาชุมชนสองวัยให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภายใต้แผนงานต้นแบบชุมชนร่วมพลังร่วมใจ รองรับสังคมผู้สูงวัยเขตเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2565 เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการเตรียมความพร้อมเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป


เอกสารอ้างอิง

1. Centers for Disease Control and Prevention. For Parents: Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) associated with COVID-19. Available from: https://www.cdc.gov/mis/mis-c.html

2. องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย. รายงานรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการระบาดโรคโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก https://www.unicef.org/thailand/media/8806/file/COVID-

bottom of page