สสส. สานพลัง สธ. สช. และ สปสช. ขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย จัดการอบรมระดับนานาชาติ เรื่อง “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาวะ : ประสบการณ์จากประเทศไทย” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ไทย พัฒนาองค์ความรู้สู่สากล มุ่งส่งเสริมสุขภาวะของประชาชนทั้งมวล ระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. 2565 ที่ ร.ร.บลิสตัน สุวรรณ ปาร์ควิว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก Enhancing Leadership in Global Health Thailand (CCS-EnLIGHT) จัดการประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาวะ : ประสบการณ์จากประเทศไทย” (International Workshop on “Health and Well-being in All Policies: Thailand Experience”) โดยในวันที่ 22 พ.ย. 2565 ผู้แทน สสส. นำโดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้นำเสนอเรื่องการผลักดันนโยบายสุขภาวะผ่านงานสร้างเสริมสุขภาพ และได้ต้อนรับคณะผู้เข้าประชุมที่เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานภายใน อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. โดยผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 22 คน จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และ ติมอร์-เลสเต โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้แทนองค์การภาคประชาสังคม
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของไทยให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา อื่นๆ ในด้านระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง การสร้างเสริมสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนานโยบายของทุกภาคส่วนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน และหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายของผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อสร้างความร่วมมือระดับสากลต่อไป ทั้งนี้ การขับเคลื่อนสุขภาวะผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นแนวทางที่ สสส. เน้นย้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพในประเด็นที่สำคัญ อาทิ การควบคุมยาสูบ การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารเพื่อสุขภาพ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดในรูปแบบ Healthy Active Meeting ตามแนวทางที่ สสส. ส่งเสริม คือ เป็นการประชุมที่ปลอดแอลกอฮอล์และยาสูบ จัดอาหารเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ กระตุ้นการมีกิจกรรมทางกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไม่ติดต่อและเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับองค์ความรู้ไปปรับใช้และเผยแพร่ในการจัดประชุมในประเทศตนต่อไป
Comments